เรียกได้ว่าปี 2020 คือการเปิดศักราชใหม่ของการออกแบบและผลิตรองเท้าเพื่อความยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยจากความสำเร็จในปีที่แล้ว ก็ได้พิสูจน์ว่าการผลิตสนีกเกอร์ด้วยวัสดุรีไซเคิลนั้นไม่ได้ลดประสิทธิภาพของตัวรองเท้าลงไปเลย แถมยังเสริมฟังก์ชันให้กับรองเท้าสาย Performance และเสริมลวดลายพิเศษให้กับรองเท้าสาย Lifestyle อีกด้วย
ข้อสรุปนี้ได้ส่งไม้ต่อมายังก้าวถัดไปในปี 2021 ที่การทำรองเท้าจากวัสดุรีไซเคิลไม่ได้เป็นเพียงแค่เทรนด์แฟชั่นแล้ว แต่หลายแบรนด์ต่างผลักดันให้รองเท้าทุกคู่ทำจากวัสดุรีไซเคิลอย่างจริงจัง เป็นเหมือน New Normal ที่ตั้งมาตรฐานใหม่ให้กับวงการสนีกเกอร์ และทำให้ความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป แต่มันได้เข้ามาเคาะประตูบ้านผ่านทางเสื้อผ้าและรองเท้า ในวันนี้เราจะพามาดูว่าแบรนด์รองเท้าที่วางจำหน่ายในร้าน Carnival เขาได้พัฒนาความ Sustainable ในโปรดักต์และกระบวนการผลิตคืบหน้าไปถึงไหนกันบ้าง
adidas
หนึ่งในแบรนด์ที่ขับเคลื่อนความยั่งยืนได้อย่างเด่นชัดมากที่สุด เพราะเขาได้ต่อยอดโปรเจกต์ที่ทำร่วมกับ Parley ด้วยการขยายไลน์การผลิตเพื่อความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ Primeblue และ Primegeen นั่นเอง ซึ่งถ้าติดตามแบรนด์ adidas จะต้องคุ้นเคยกันอย่างแน่นอน
โดย Primeblue เป็นโปรเจกต์ที่ต่อยอดมาจากการร่วมงานกับ Parley ซึ่งหัวใจหลักของ Primeblue คือการทำเส้นใยรีไซเคิลที่ขึ้นรูปมาจากขยะพลาสติกที่ Parley รวบรวมมาจากท้องทะเล ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกถักทอให้กลายเป็นผ้า Primeknit บนรองเท้าสาย Performance อย่าง Ultraboost และ Ultra 4D ซึ่งล่าสุดก็มีการใช้บนรองเท้า Lifestyle อย่าง NMD ด้วยเช่นกัน
ในส่วน Primegreen จะเป็นวัสดุระดับสูงที่เป็นการผสมผสานระหว่างวัสดุรีไซเคิลและวัสดุเหลือใช้ โดยจะไม่มีส่วนผสมของสัตว์และสามารถย่อยสลายได้ ซึ่งได้ถูกนำมาใช้บนโมเดลคลาสสิกต่าง ๆ ทั้ง Stan Smith, Superstar, Continental 80, Forum และ Supercourt เป็นต้น
โดยรองเท้าใน 2 ไลน์การผลิตได้ถูกออกแบบให้คงรูปลักษณ์เหมือนโมเดลดั้งเดิมอย่างกับแกะ รวมถึงในแง่ของประสิทธิภาพก็ยังคงคุณสมบัติไว้อย่างครบถ้วน แม้ว่าจะมีวัสดุรีไซเคิลเป็นส่วนผสมหลักก็ตาม นอกจากรองเท้าแล้ว adidas ยังต่อยอดนำวัสดุ Primeblue และ Primegreen ไปใช้กับเสื้อผ้าอีกด้วย
ซึ่งรองเท้าที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลเหล่านี้จะถูกบรรจุมาในกล่องรองเท้าที่ adidas ออกแบบใหม่ให้มีขนาดเล็กลงและผลิตจากวัสดุรีไซเคิล โดยในการประกอบกล่องจะไม่มีการใช้กาวเลยเพื่อลดการใช้สารเคมี แถมยังมีดีเทลล์เล็ก ๆ อย่างการเปลี่ยนเอ็นพลาสติกที่ติดกับแท็กเป็นเชือกกระดาษแทน ปิดท้ายด้วยการสกรีนบนกล่องเพื่อโชว์ว่ากล่องนี้บรรจุรองเท้าที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล
สำหรับคอลเลคชั่นใหญ่ ๆ ในปีนี้ adidas และ Parley ก็ยังคงแน่นแฟ้นทำคอลเลคชั่นร่วมกันมาจนถึงฤดูกาลล่าสุดกับ adidas x Parley FW2021 ที่ชูโรงด้วย Ultraboost 21 มาพร้อมกับบรรดาเสื้อผ้า Tank Top และ Short นอกจากนี้การร่วมมือระหว่าง 2 แบรนด์ยังขยายขอบเขตไปยังไลน์การผลิตระดับสูง Terrex ที่ล่าสุดได้หยิบโมเดล Free Hiker มาผลิตด้วยวัสดุ Primeblue ในส่วน Upper ด้วยความยืดหยุ่นที่มีฟังก์ชันระบายอากาศได้ช่วยส่งเสริมให้รองเท้าปีนเขาคู่นี้ใส่สบายกว่าคู่ไหน ๆ
มาพูดถึงโปรเจกต์ในหมวด Collaboration ในปีนี้กันบ้าง สานต่อจากปีที่แล้วที่ adidas และ Sean Wotherspoon นักออกแบบรองเท้า, นักสะสมและเจ้าของร้าน Round Two ได้ร่วมกันออกแบบโมเดล Stan Smith ในปีนี้ Sean ตอบตกลงเข้าร่วมโปรเจกต์ A-ZX ด้วยการเปิดตัวโมเดล ZX 8000 SUPEREARTH ที่เป็นผลลัพธ์มาจากการใช้วัสดุรีไซเคิลมาตัดเย็บด้วยเทคนิคสไตล์ Patchwork ทำให้ ZX 8000 คู่นี้โดดเด่นไม่เหมือนใครและอัดแน่นไปด้วยความรักที่ Sean มีต่อโลกใบนี้
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นรองเท้าที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ก็สามารถเป็นขยะได้เช่นกัน adidas จึงปล่อยหมัดฮุกเปิดตัวโมเดล Made to be Remade Ultraboost รองเท้าสาย Performance ที่ผลิตจากวัสดุใช้แล้ว โดยที่ไม่มีการย้อมและไม่ใช้กาวในการประกอบ ซึ่งความเด็ดของมันก็คือฟังก์ชันที่สามารถส่งรองเท้ากลับไปให้ adidas รีไซเคิลได้อีกครั้งเมื่อหมดอายุการใช้งาน เป็นระบบที่ไม่สร้างขยะเลย โดยโมเดลนี้ก็เพิ่งวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายนที่ผ่านมา และเราหวังว่าโปรเจกต์นี้จะได้พัฒนาต่อไป เพื่อให้รองเท้าทุกคู่ของ adidas สามารถ Made to be Remade ได้เช่นกัน
ถัดมาที่เซอร์วิสที่น่าสนใจกันบ้าง ล่าสุด adidas เพิ่งจะประกาศทดลองใช้ adidas Terrex Rental บริการพิเศษเพื่อการท่องเที่ยวโดยเฉพาะในประเทศฝรั่งเศส เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเช่ารองเท้า เสื้อผ้า และอุปกรณ์ต่าง ๆ จากคอลเลคชั่น Terrex ออกไปผจญภัยในที่ต่าง ๆ ได้ และเมื่อใช้เสร็จแล้ว adidas ก็จะนำกลับมาทำความสะอาดและซ่อมแซมเพื่อให้พร้อมต่อการเช่าครั้งต่อไป เรียกได้ว่าเซอร์วิสนี้ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาการซื้อรองเท้ามาดองที่บ้านของใครหลายคนอย่างแท้จริง เพราะจะมีกี่ครั้งที่เราได้งัดรองเท้าปีนเขาออกมาใช้งาน ยิ่งในสถานการณ์โควิดนี้ บอกเลยว่าได้แค่ตั้งโชว์ในบ้านอย่างเดียวเลยครับ (เจ็บแต่จริง)
Nike
และแบรนด์ที่ตีคู่มาแบบสูสีก็คือ Nike ที่เริ่มโปรเจกต์ Sustainable ภายใต้ชื่อ Move to Zero มาตั้งแต่ปี 2019 โดยมีเป้าหมายหลายประการ ทั้งการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การริเริ่มใช้พลังงานหมุนเวียน และที่สำคัญที่สุดคือการผลิตคอลเลคชั่นเสื้อผ้าและรองเท้าจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งแม้ว่า Nike จะไม่ได้มีกลยุทธ์ที่ผลักดันให้รองเท้าทุกคู่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลเช่นเดียวกับ adidas แต่ก็มีคอลเลคชั่นและโมเดลเกิดใหม่ภายใต้โปรเจกต์ Move to Zero มากมาย
จากความสำเร็จในปีที่แล้ว ก็ทำให้ปีนี้ Nike เล่นใหญ่จัดเต็มตั้งแต่ครึ่งปีแรกด้วยการเปิดตัว Air Vapormax 2021 รองเท้าตระกูล Air Max รุ่นล่าสุดและเป็นรองเท้าที่มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิล 40% คำนวณตามน้ำหนัก นับเป็นรองเท้าที่ผลิตด้วยวัสดุรีไซเคิลสูงที่สุดของ Nike ถัดมายังคอลเลคชั่น Crater ที่มีการเปลี่ยน Upper เป็น Flyknit ที่ถักทอจากเส้นใยรีไซเคิล พร้อมเปิดตัวโมเดลใหม่ Crater Impact นอกจากนี้ยังมีการทำคอลเลคชั่นใหม่ Plant Cock Pack ที่นำโมเดล Air Force 1, Daybreak และ Blazer มาผลิตด้วยวัสดุรีไซเคิล 20% คำนวณตามน้ำหนัก ซึ่งแพ็กนี้โดดเด่นด้วยพื้น Outsole แบบใหม่ที่เป็นการผสมยางกับไม้ก๊อกรีไซเคิลจากอุตสาหกรรมไวน์
และที่พิเศษที่สุดก็คือการเปิดตัวโมเดลสาย Performance แพ็กแรกภายใต้โปรเจกต์ Move to Zero โดยนำทัพด้วย Nike Cosmic Unity รองเท้าบาสเกตบอล, Air Zoom SuperRep 2 Next Nature รองเท้าฟิตเนสสำหรับคุณผู้หญิง และ Nike Victory G Lite รองเท้ากอล์ฟ ซึ่งมีการใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิตทุกส่วนตั้งแต่ Upper, Swoosh, Insole, Midsole และ Outsole
และเป็นข่าวดีก้าวสำคัญ เมื่อไลน์การผลิต ACG เองก็เข้าร่วมโปรเจกต์ Move to Zero กับเขาด้วย โดยในคอลเลคชั่น SS2021 ก็ใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิตสูงถึง 95% เลยทีเดียว และมีการนำไปผสมผสานกับเทคโนโลยีระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เสื้อผ้ารองเท้าแห้งเร็ว ฟังก์ชันกันน้ำกันลม ฟังก์ชันป้องกันแสง UV อันร้อนแรงได้อย่างหมดจด การดีไซน์เสื้อผ้าให้มีน้ำหนักเบาสุด ๆ และจัดเก็บง่าย เพื่อคงประสิทธิภาพการใช้งานไว้ได้อย่างครบถ้วน
นอกจากนี้ Nike ยังเปิดตัวคอลเลคชั่นพิเศษที่ไปร่วมทำกับ READYMADE แบรนด์เสื้อผ้าจากประเทศญี่ปุ่น โดยนำเสื้อผ้า Deadstock มาเข้ากระบวนการ Upcycled เพื่อใช้เป็นวัสดุในการผลิต Blazer Mid ที่ถูกออกแบบให้มีกลิ่นอายแบบ Military ผสม Vintage โดย Upper จะมาในการตัดเย็บสไตล์ Patchwork ประกบกับพื้นยาง Valcanized ที่พื้นชั้นนอกมีส่วนผสมของ Nike Grind
โดยรองเท้าที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลทุกคู่จะถูกบรรจุมาในกล่องแบบพิเศษที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล 90% โดยจะไม่มีการแถมกระดาษห่อ กระดาษดันทรง และเชือกสำรอง เพราะสิ่งเหล่านี้ต่างเป็นสิ่งที่ Nike มองว่าเป็นการสร้างขยะโดยไม่จำเป็น ส่วนในกล่องรองเท้าทั่วไป ก็จะไม่มีการใช้พลาสติกแบบ Single-Use เลย แถมยังเลือกใช้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลและย่อยสลายได้ เช่น กระดาษห่อ Glassine
และหมากตัวสำคัญที่สร้างเสียงฮือฮาได้ดีเลย ก็คือโปรแกรม Nike Refurbished ที่ Nike แบ่งพื้นที่บางส่วนในร้าน Outlet เพื่อวางจำหน่ายสินค้ามือสองที่ถูกส่งคืนจากลูกค้า ซึ่ง Nike จะนำไปตรวจสอบสภาพ และแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ Like New (เหมือนใหม่ ใส่ไปเพียงวันหรือสองวัน), Gently Worn (มีการใช้งานไปสักพัก) และ Cosmetically Flawed (มีตำหนิจากกระบวนการผลิต) เมื่อสินค้าถูกส่งกลับมายังศูนย์ Nike จะทำความสะอาดเพื่อคืนสภาพให้เหมือนใหม่มากที่สุด เพื่อนำกลับมาจำหน่ายในราคาตามสภาพจริงใน 15 สาขาทั่วสหรัฐอเมริกา ในขณะที่รองเท้าที่ไม่สามารถนำมาจำหน่ายใหม่ได้ จะถูกบดเป็น Nike Grind และนำไปผลิตเป็นรองเท้าคู่ใหม่
Converse
มาถึงแบรนด์สุดคลาสสิกอย่าง Converse ด้วยความที่เป็นแบรนด์ภายใต้สังกัดของ Nike ทำให้ Converse ดูดซับเทคโนโลยี Sustainable มาจาก Nike แบบเต็ม ๆ จะเห็นได้จากการต่อยอดคอลเลคชั่น Converse Renew ในปี 2021 ด้วยโมเดล Chuck Taylor All Star Crater Knit ที่เพียงแค่ดูจากภายนอกก็ทำให้รู้เลยว่าส่วน Upper ทั้งหมดได้ถูกถักทอจากเส้นใยรีไซเคิลเช่นเดียวกับคอลเลคชั่น Crater ชุดล่าสุดของ Nike และมีการผสม Nike Grind ลงไปนวดรวมกับพื้นรองเท้า โดยที่ยังคงรักษาความคลาสสิกของรูปลักษณ์ดั้งเดิมไว้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้รองเท้า Converse ได้รับโบนัสเพิ่มเติมด้วยฟังก์ชันที่ใส่สบาย ระบายอากาศ และยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าเดิมแบบลิบลับ ถือเป็นการพัฒนาแบบยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว
ในขณะที่ไลน์การผลิตทั่วไป ก็มีคอลเลคชั่นพิเศษที่หยิบโมเดลคลาสสิก Chuck 70, Chuck Taylor All Star และ Jack Purcell มาผลิตด้วย Recycled Poly-Canvas และ Organic Canvas โดยผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีการนำเสื้อฮาวายมือ 2 มาเข้ากระบวนการ Upcycled เพื่อใช้ในการตัดเย็บเป็นคอลเลคชั่น Converse Chuck 70 “Tropical Shirt” อีกด้วย ซึ่งรองเท้าส่วนใหญ่ที่ Converse วางจำหน่ายในปีนี้ ได้เปลี่ยนไปใช้เชือกรองเท้าที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลแทบทั้งหมดแล้ว
ASICS
โยกกันมาที่เสือประจำถิ่นของทวีปเอเชียอย่าง ASICS ที่มุ่งมั่นตั้งใจให้โปรดักส์ทุกชิ้นผลิตจากวัสดุรีไซเคิลเช่นเดียวกับ adidas โดย ASICS เองก็มีอาวุธลับอย่าง Cellulose Nanofiber เส้นใยจากพืชสุดแข็งแกร่งที่ร่วมคิดค้นกับ Seevix องค์กรทางด้านวิทยาศาสตร์ เป็นเส้นใยที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ซึ่งถูกใช้ในการผลิตรองเท้ากว่า 8.7 ล้านคู่มาตั้งแต่ปี 2020
นอกจากเส้นใยมังสวิรัติแล้ว ASICS ยังพัฒนาให้เส้นใยพลาสติกรีไซเคิลสามารถใช้ผลิตรองเท้าวิ่งได้สูงถึง 95% โดยโมเดลล่าสุดอย่าง GEL-NIMBUS™ LITE 2 ก็มี Upper เป็นเส้นใยพลาสติกรีไซเคิลที่ระบายอากาศได้ดี ในขณะที่ส่วนพื้นชั้นกลางจะเป็น Flytefoam ที่ทำจาก Cellulose Nanofiber เช่นกัน
ไม่ใช่แค่รองเท้า แต่กล่องรองเท้าก็มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลด้วย โดยตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา ASICS ได้ออกแบบกล่องรองเท้าใหม่ ด้วยการใช้หมึกสกรีนที่มีน้ำเป็นส่วนผสมหลักและใช้กระดาษลดลง 10% ส่วนรองเท้าที่มีตำหนิ ASICS ก็ใช้ลูกเล่นเช่นเดียวกับ Nike ด้วยการนำไปรีไซเคิลใหม่ แต่จะพิเศษหน่อยที่ ASICS สาขาอเมริกาจะคัดแยกรองเท้าที่ถูกส่งคืนเพราะปัญหาเรื่องขนาด เพื่อจะนำไปวางขายใหม่ในราคาพิเศษที่ Outlet Store
Others
ในขณะที่แบรนด์อื่นก็มีการเร่งฝีเท้าตามมาเช่นกัน อย่าง Reebok ก็เปิดตัวไลน์การผลิต 2 แบบ ที่มีความคล้ายคลึงกับ Primegreen และ Primeblue คือ ReeGrow ที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติ 50% ในการทำรองเท้า และ Reecycled ที่ใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิตรองเท้าสาย Performance อย่าง Zig Kinetic โดยใช้ในการผลิตส่วน Upper 30% ด้วยกัน
สำหรับแบรนด์ที่มีหนังจำพวก Suede เป็นส่วนประกอบเยอะอย่าง New Balance เขาก็เลือกที่จะโฟกัสที่กระบวนการผลิตวัสดุหนังให้ส่งผลกระทบต่อโลกน้อยที่สุด โดยพิถีพิถันตั้งแต่ฟาร์มไปจนถึงกระบวนการฟอกหนัง (แบบนี้เรียกว่า Farm to Foot รึเปล่านะ) ในขณะที่ตัวรองเท้าเองก็ถูกอัปเกรดให้ใช้วัสดุในการผลิตน้อยลงแต่เพิ่มคุณภาพสูงขึ้น รวมถึงผลักดันให้รองเท้าสามารถกลับมา Repair และ Recycled ได้
ซึ่งล่าสุดเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา New Balance ก็เพิ่งออกคอลเลคชั่นใหม่ที่ชูโรงด้วยโมเดล 992 ที่ผลิตขึ้นจากวัสดุเหลือใช้ในบริเวณ Upper และ Sole ผสมผสานกับวัสดุใหม่ที่ถูกใช้ในบริเวณที่จำเป็นอย่างการบุข้อเท้า กรอบที่ส้นเท้า และส่วนปลายเท้า โดยคราฟต์ทั้งหมดด้วยเทคนิคงานฝีมือระดับสูงของ New Balance
Vans เองก็ไม่น้อยหน้า ผลักดัน Eco Theory คอลเลคชั่นที่นำโมเดลสุดคลาสสิกอย่าง Authentic, Slip-On และ Style 36 มาผลิตส่วนต่าง ๆ ด้วยคอตตอน ยาง ใยปอ และพื้นไม้ก๊อกที่มาจากธรรมชาติ 100% โดยที่ประกอบและตกแต่งส่วนต่าง ๆ ด้วยกาวและหมึกที่มีส่วนผสมของน้ำเป็นหลัก ซึ่งยังคงความคลาสสิกตามสไตล์ Vans ไว้ในดีเทลล์อย่างพื้นยางสี Gum และลาย Checkerboard อันเป็นจุดขายสำคัญ
มาถึงเจ้าสุดท้ายอย่างเสือดำแห่งทวีปยุโรป Puma ก็แสดงสปิริตด้วยการยอมขาดทุนในการตลาด แต่สร้างกำไรด้านสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น เพื่อปรับปรุงโครงสร้างการผลิตใหม่หมดให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการไปจับมือกับมืออาชีพอย่าง FIRST MILE องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อทำคอลเลคชั่นในปี 2020 ที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลโดยแปลงขวดน้ำพลาสติกให้กลายเป็นเส้นใยเพื่อนำมาผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าเทรนนิ่งรุ่น Fuse Training, lqdcell และ Hybrid Nx Ozone
เมื่อมองโดยภาพรวม เราจะเห็นได้ชัดเลยว่า ความยั่งยืนไม่ใช่เพียงแค่สิ่งไกลตัวแล้ว แต่มันได้กลายมาเป็นภารกิจที่ทุกแบรนด์ต่างใส่ใจและผลักดันความยั่งยืนร่วมกัน ซึ่งคุณเองก็สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันความยั่งยืนนี้ได้ ด้วยการใช้เสื้อผ้าและรองเท้าที่มีอย่างคุ้มค่าให้มากที่สุด และเมื่อถึงเวลาที่ต้องซื้อใหม่ ก็อย่าลืมอุดหนุนโปรดักต์จากวัสดุรีไซเคิลเหล่านี้ เพราะการผลักดันให้วงการแฟชั่นมีความยั่งยืน ต้องอาศัยการร่วมมือกันทั้งผู้ผลิต ผู้ขาย และผู้ซื้อ โดยในร้าน Carnival ของเราก็มีสินค้า Sustainable ให้เลือกซื้อมากมาย สามารถเข้าไปชมได้ที่แอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ www.carnivalbkk.com หรือเข้าชมสินค้าจริงได้ที่หน้าร้านทุกสาขาได้เลยครับ
REFERENCE
news.adidas.com
news.adidas.com
adidas-group.com
location.adidas.fr
purpose.nike.com
nikecirculardesign.com
news.nike.com
corp.asics.com
converse.com
reebok.com
newbalance.com
newbalance.com
about.puma.com
hypebeast.com
hypebeast.com
news.nike.com