หลายๆ คนคงเคยผ่านตางานหัตถกรรมสานอันเป็นเอกลักษณ์ของ ‘โยธกา’ มาไม่มากก็น้อย แต่รู้หรือไม่? ว่างานเฟอร์นิเจอร์แฮนด์เมดคุณภาพพรีเมี่ยมนี้ ได้รับการยอมรับจากผู้คนทั่วโลก ในการนำงานฝีมือและภูมิปัญญาของไทยมาพัฒนาให้มีความเป็นสากลเฉพาะตัว จนทำให้ไปอยู่ บน Boutique Shop ของแบรนด์แฟชั่นระดับโลกอย่าง Hermès, Louis Vuitton และ FENDI วันนี้ Carnival จะพาทุกคนไปรู้จักความเป็นมาของเเบรนด์ ‘โยธกา’ กัน
เสน่ห์ของงานคราฟต์ที่มีความเป็นไทยในระดับสากล
ก่อตั้งเมื่อปี 1989 แบรนด์เฟอร์นิเจอร์งานคราฟต์สัญชาติไทยระดับปรมาจารย์อย่าง ‘โยธกา’ (YOTHAKA) ได้ก้าวข้ามกำแพงและอุปสรรคหลากหลายมากมาย และเป็นผู้ริเริ่มการใช้วัสดุ Water Hyacinth ( ผักตบชวา) มาสร้างสรรค์เฟอร์นิเจอร์แฮนด์คราฟต์ระดับพรีเมี่ยมในระดับ อุตสาหกรรม โดยแบรนด์ ‘โยธกา’ มีลูกค้าทั้งโรงแรมและรีสอร์ตไฮเอนด์ ไปจนถึงบ้านแฟชั่นชั้นนำอย่าง Hermès, Louis Vuitton และ FENDI เนื่องจากแบรนด์มีการโฟกัสที่คุณภาพของวัสดุและความปราณีตของงานคราฟต์ ทำให้สามารถครองใจแบรนด์ระดับโลกแม้จะไม่ได้ทำการตลาด และไม่ซื้อโฆษณา เว้นเพียงแต่การออกงานแสดงสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งพูดได้ว่า เป็นการทำการตลาดแบบคลาสสิค สินค้าและดีไซน์ของเเบรนด์แทบจะขายตัวมันเอง นั้นแสดงให้เห็นถึงคุณภาพและความน่าเชื่อถือของแบรนด์ ‘โยธกา’ ได้เป็นอย่างดี
โดยอาวุธลับของ ‘โยธกา’ คือความคิดสร้างสรรค์ทีไม่เหมือนใคร และดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่คาดเดาไม่ได้และไม่กลัวที่จะ Restructure คอลเลคชั่นและออกแบบดีไซน์ใหม่ๆ ทุกปี โดยเฉพาะการนำเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทยมานำเสนอในรูปแบบที่เข้าถึงได้ และมีสเน่ห์ในความเรียบง่าย ซึ่งนอกจากเฟอร์นิเจอร์ ‘โยธกา’ ยังมีไลน์การผลิตของแต่งบ้านแฮนด์เมด อย่าง Straw Boxes, Basketry, Stationery และ Photo Frames เป็นต้น
งานดีไซน์ของโยธกาไม่เคยหยุดนิ่ง และนับตั้งแต่เริ่มจุดมุ่งหมายคือการนำเฟอร์นิเจอร์ไทยไปสู่สายตาโลก โดยตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านมา ‘โยธกา’ ก็ได้รับรางวัลจากหลากหลายเวทีทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรปและญี่ปุ่น โดยเฉพาะงานบางชิ้นยังมีโอกาสได้เข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศทั้งเกาหลีและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า หัตถกรรมงานคราฟต์ของคนไทยนั้นไม่แพ้ใครในโลก
เบื้องหลังของตำนานผักตบชวา
ทุกความสำเร็จย่อมมีเบื้องหลังเสมอและสำหรับ ‘โยธกา’ ชายผู้เป็นผู้นำของกลุ่มคนเบื้องหลังคือ คุณรักษ์-สุวรรณ คงขุนเทียน เจ้าของกิจการและดีไซนเนอร์เพียงผู้เดียวของ ‘โยธกา’ คุณรักษ์ นอกจากจะเป็นดีไซนเนอร์ชั้นปรมาจารย์แล้ว อย่างเป็นครูผู้แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้แก่ ผู้ประกอบการและดีไซนเนอร์หน้าใหม่มากมาย จนเป็นที่ยอมรับและได้รับการเคารพนับถือ
คุณรักษ์เกิดที่เชียงใหม่ จังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องงานหัตถกรรม โดยสมัยยังเป็นเด็กคุณรักษ์ก็เติบโตมาควบคู่กับวัฒนธรรมของงานหัตธกรรม ด้วยความรักในศิลปะการออกแบบคุณรักษ์ได้ศึกษาที่วิทยาลัยช่างศิลป์ และเรียนต่อที่ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หลังจากเรียนจบคุณรักษ์ตัดสินใจไปทำงานแปลแบบ ก่อสร้างที่ประเทศซาอุดิอาราเบียอยู่ปีครึ่ง ก่อนจะกลับไทยมาทำงานที่บริษัทราชาเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งทำงานเรียนรู้อยุ่ประมาณแปดเดือน ก็ขยับไปหาโอกาสที่ประเทศสิงคโปร์ ในที่สุดก็ได้ตั้งบริษัทออกแบบบ้านที่สิงคโปร์เป็นเวลาสิบกว่าปี โดยผ่านพาร์ทเนอร์มาหลากหลาย และภาวะเศรษฐกิจตกตํ่าที่ทำให้ยํ่าแย่ แต่คุณรักษ์ก็ผ่านมาได้จนประสบความสำเร็จในที่สุด
จุดเปลี่ยนก็คือเมื่อคุณรักษ์มีโอกาสได้ไปดูงานวิจัยของคุณ หน่า (ม.ล. ภาวินี สันติศิริ) เพื่อนสมัย มหาวิทยาลัยของคุณรักษ์ ตอนนั้นเธอทำวิจัยเกี่ยวกับงานเสริมสำหรับผู้มีรายได้น้อย ด้วยการนำผักตบชวาที่หาได้ง่ายดาย มาสานเป็นเชือกสำหรับทำเฟอร์นิเจอร์ และด้วยความชื่นชอบในงานหัตถกรรม ตั้งแต่เด็กจึงตัดสินใจอยากลองทำสิ่งนี้ แม้ว่าธุรกิจในสิงคโปร์ของคุณรักษ์กำลังไปได้ด้วยดีก็ตาม
เส้นทางที่ไม่เรียบง่ายเหมือนกับดีไซน์
แต่การเดินทางก็ไม่ได้มีแต่กลีบกุหลาบ เพราะคุณรักษ์ได้ผ่านเรื่องราวและอุปสรรคมาอีกหลายครั้งกว่าที่ ‘โยธกา’ จะถือกำเนิดขึ้นในปี 1989 ในที่สุด แต่แล้วบททดสอบของ ‘โยธกา’ ก็พึ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น ทั้งข้อผิดพลาดเรื่องประสบการณ์ในการทำเอกสารนำเข้าส่งออก ทำให้จัดแสดงงานที่ LA ไม่ทัน ซึ่งนั้นก็ทำให้คุณรักษ์ต้องกลับไปเก็บเงินใหม่ด้วยความเฟลถึงสองปี อย่างไรก็ตามคุณรักษ์ก็ยังมีความตั้งใจที่แน่วแน่ที่จะดีไซน์เองและส่งออกเป็นหลัก ในยุคที่ไม่มีใครทำ
อีกอุปสรรคหนึ่งที่คุณรักษ์ต้องพบเจอคือ ‘มายาคติ’ เกี่ยวกับภาพลักษณ์ของงานเฟอร์นิเจอร์หัตถกรรมไทยว่า ‘เมดอินไทยแลนด์’ แปลว่าถูกหรือคุณภาพไม่ดีพอ และไม่ได้รับการยอมรับ อีกทั้งงานเฟอร์นิเจอร์ไทยส่วนใหญ่ยังนิยมใช้ดีไซน์แบบยุโรปเพื่อให้ขายได้ในตลาดโลก ทำให้คุณรักษ์ต้องปรับแก้งานดีไซน์หลากหลายครั้ง และจัดหาวัสดุที่เป็นของพรีเมี่ยมอย่างไม้ที่ใช้ รวมไปถึงขั้นตอนการผลิตที่เป็นแฮนด์เมดปราณีตทุกชิ้น คุณรักษ์และช่างฝีมือร่วมกันเรียนรู้กลวิธีในการผลิต และพัฒนาในแง่ดีไซน์ควบคู่กันไปตลอดเวลา โดยเฉพาะเทคนิคของการสานที่ในตอนแรกเป็นการประยุกต์ใช้จากการสานหวาย แต่เมื่อเวลาผ่านไป ด้วยการศึกษาลองผิดลองถูก เทคนิกของหวายก็ถูกปรับปรุง ในที่สุดทุกขั้นตอนก็กลายเป็นเทคนิกของงานผักตบชวาโดยเฉพาะ
จุดเปลี่ยนสำคัญอีกจุดของ ‘โยธกา’ ก็คือเพื่อนของคุณรักษ์ที่เคยทำงานร่วมกัน คุณ วิสุทธิ์ ลิ้มอารีย์ คอลัมนิสต์ ผู้เปิดบริษัทนำเข้าดอกไม้กระดาษในฝรั่งเศส ขอซื้อเก้าอี้ผักตบชวาของคุณรักษ์ ไปวางเป็นของตกแต่งที่งาน Maison et Objet ที่ประเทศฝรั่งเศส เป็นงานแฟร์ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป และแม้ว่าเก้าอี้ที่ถูกซื้อไปเป็นเพียงพร็อบตกแต่งงานไม่ใช่การจัดแสดง แต่ผลปรากฏว่าหลังจากงานแฟร์ครั้งนั้น ออเดอร์จากตลาดยุโรปก็พุ่งสูงขึ้นนับสิบตู้คอนเทนเนอร์เลยทีเดียว และด้วยความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ ‘โยธกา’ ต้องออกคอลเลคชั่นทุกซีซั่นเหมือนกับเป็นแบรนด์แฟชั่นเลยทีเดียว
จากผักตบชวาสู่เส้นใยสัปปะรด
เป็นสัจธรรมของโลกนี้ที่ทุกอย่างมีเกิดดับหมุนเวียนกันไป เทรนด์ของตลาดก็เช่นกัน โดยเฉพาะในโลกของดีไซน์ เมื่อถึงวันที่ ‘เทรนด์’ของผักตบชวาจางหายไป คุณรักษ์ก็ไม่รอช้าที่จะปรับเปลี่ยนตัวเอง และพัฒนาวัสดุอื่นๆที่มีศักยภาพมากพอ ด้วยความที่ ‘โยธกา’ เป็นแบรนด์ที่ใช้ขั้นตอนการผลิตแบบแฮนด์เมด จึงสามารถเปลี่ยนแปลง ตัวเองได้ตลอดเวลา โดยใจความสำคัญคือดีไซน์และงานหัตถกรรม
นับแต่นั้นมา ‘โยธกา’ ก็กลายเป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์แฮนด์เมดที่ใช้วัสดุหลากหลาย เช่น ย่านลิเภา เชือกลีซอ พลาสติเส้น หวาย เชือก ผักตบเทียม จนถึง เถาวัลย์เทียมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และที่ขาดไม่ได้เลยคือ กระดาษใยสัปปะรด โรงงานของนักออกแบบรุ่นน้องของคุณรักษ์ทำกระดาษจากใยสัปปะรดแปลรูปให้กลายเป็นซองจดหมาย จานรองแก้ว อัลบั้มรูป ด้วยความที่คุณรักษ์กำลังมองหาวัสดุมาใช้ในการดีไซน์เฟอร์นิเจอร์รูปแบบใหม่อยู่พอดี เนื่องจากกระดาษใยสัปปะรดมีคุณลักษณะที่เหนียวทนนํ้าได้ประมาณนึงมีผิวสัมผัสที่เฉพาะตัว และยังเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติ จึงเหมาะเจาะที่จะมาพัฒนาให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์
“คุณใช้แผ่นเดียวฉีกก็ขาด จับมาอัดกันคนยืนร้อยโลก็ไม่เป็นไร ” คือคำกล่าวของคุณรักษ์ที่เรียบง่ายแต่ความหมายลึกซึ้ง ผลคือเก้าอี้ Stool ที่มีความเป็นเอเชียสูงแต่สากลอย่างบอกไม่ถูก เป็นโมเดลเก้าอี้ที่ถูกนำไปวางที่พิพิธภัณฑ์ของเกาหลีญี่ปุ่น ในลอบบี้โรงเเรมรีสอร์ทระดับโลก และในคราวนี้เก้าอี้ใยสัปปะรดในตำนานก็ได้เวียนมาถึงร้าน Carnival ของเรากันแล้ว